ผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรค NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หากติดเชื้อโควิด - 19 จะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและอาการรุนแรงมากกว่าปกติ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. โรคเบาหวาน เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา โรคนี้เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต หากเป็นแล้วจะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้
2. โรคความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่ตรวจพบว่า ค่าความดันโลหิตอยู่ในระดับที่สูงกว่าปกติ มีค่าเท่ากับหรือมากกว่า 140/90 มิลิเมตรปรอท ซึ่งค่าความดันปกติควรน้อยกว่า 120/80 มิลิเมตรปรอท
3. โรคหลอดเลือดสมองหรือเรียกว่า โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่เกิดจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย อาจเป็นสาเหตุของความพิการหรือเสียชีวิตได้ และสามารถเกิดได้ทุกเพศทุกวัย
4. โรคหัวใจ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย ส่วนมากมักเกิดกับผู้ที่มีช่วงอายุวัยกลางคนขึ้นไป และเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
5. โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นโรคเรื้อรังที่มีทางเดินหายใจภายในปอดอุดกั้นอย่างช้า ๆ การดำเนินโรคจะค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในหลอดลมหรือในเนื้อปอดอักเสบ ทำให้หลอดลมตีบแคบลงหรือตัน ไม่คืนกลับสู่สภาพปกติ โรคนี้ประกอบด้วยสองโรค ได้แก่ โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง และโรคถุงลมโป่งพอง
6. โรคไตวายเรื้อรัง คนไทยป่วยสูงถึง 7,600,000 คน เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดราว 40,000 คนต่อปี หรือ 108 คนต่อวัน เป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตกว่า 500,000 คน โรคไตเป็นอาการหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณไต ทำให้การทำงานเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย และรักษาความสมดุลของเกลือ รวมถึงน้ำในร่างกายเกิดภาวะขัดข้อง
นอกจากนั้น สธ. ยังรณรงค์ให้ทุกคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs โดยรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เลี่ยงหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ในมื้ออาหาร พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดปัจจัยเสี่ยงอย่างดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย