วันที่ 1 สิงหาคม 2565 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ออกมาให้คำแนะนำแก่ประชาชนเมื่อเกิดอุบัติเหตุสามารถใช้สิทธิอย่างไรได้บ้าง โดยมีใจความ ดังต่อไปนี้
ผู้เสียหายญาติ
สิ่งที่ต้องทำเป็นสิ่งแรก คือ การตั้งสติและรวบรวมข้อมูลหลักฐานจากความเสียหายอาการบาดเจ็บ เรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามวัน เวลา สถานที่ บุคคลที่เกี่ยวข้องโดยละเอียด
พยาบาล / แพทย์
ทำการตรวจสอบสิทธิ์และขั้นตอนการรักษาพยาบาลกับเจ้าหน้าที่ให้ชัดเจน โดยต้องขอใบรับรองแพทย์ทุกครั้งที่แพทย์นัด
พนักงานสอบสวน
เข้าให้ข้อมูลเหตุการณ์และความเสียหายที่เกิดขึ้น หากจำเป็นต้องลงชื่อในเอกสารใด ๆ ควรอ่านข้อความให้ละเอียดครบถ้วนและขอสำเนาเอกสาร เช่น บันทึกคำให้การ หรือบันทึกการเจรจาไกล่เกลี่ยกลับมาด้วยทุกครั้ง
ตัวแทนบริษัทรถโดยสาร
ห้ามหลงเชื่อหรือลงชื่อในเอกสารที่อ้างว่าจะช่วยเหลือให้ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทน แต่หากเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นจากบริษัทรถควรทำหลักฐานการรับเงินที่ระบุข้อความว่า เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้นที่ไม่ควรเกี่ยวกับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนให้ชัดเจนก่อนลงชื่อ
ตัวแทนบริษัทประกันภัย
หากต้องทำสัญญาประนีประนอมยอมความหรือให้ลงชื่อในเอกสารรับเงินโดยมีข้อความที่ระบุว่า “ผู้รับสัญญาตกลงไม่เรียกร้องค่าเสียหายอื่นใดทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อผู้ให้สัญญาและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ อีกต่อไป โดยให้ถือว่ามูลละเมิดดังกล่าวได้ระงับซึ่งไปแล้ว” ห้ามลงชื่อยินยอมในเอกสารดังกล่าวโดยเด็ดขาด เพราะเป็นการสละสิทธิ์ที่จะฟ้องคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เสียสิทธิไม่สามารถฟ้องคดีหรือเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมได้
เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค
ร้องทุกข์หนึ่งครั้งดีกว่าบทพันครั้ง หากเกิดอุบัติเหตุแล้วไม่รู้จะปรึกษาใครติดต่อมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เพื่อขอคำแนะนำช่วยเหลือโทรศัพท์ 02 – 248 - 3737 ได้ทันที
ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือโทร 02 – 343 - 1500