อันตรายจากพิษ "แมงดาถ้วย" และวิธีสังเกต แมงดาแบบไหนปลอดภัย

แมงดาทะเลพบมากที่สุดตามพื้นที่แนวชายฝั่งของทะเลไทย ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - มิถุนายน ไข่หรือเนื้อของแมงดาถ้วยหรือเห - ราบางตัวจะมีพิษเทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) หรือซาซิท็อกซิน (Saxitoxin) เป็นพิษชนิดเดียวกับที่พบในปลาปักเป้า ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้

ลักษณะความแตกต่างระหว่างแมงดาถ้วย และแมงดาจาน

  • แมงดาถ้วย แมงดาไฟ หรือเห - รา ลำตัวเป็นรูปโค้งกลม ขนาดตัวประมาณ 15 เซนติเมตร มีหางค่อนข้างกลม พื้นผิวด้านบนเรียบมัน สีน้ำตาลอมแดง ไม่มีสัน และไม่มีหนาม ขนาดตัวเล็กกว่าแมงดาจาน อยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและคลองในป่าชายเลน

  • แมงดาจาน ตัวใหญ่กว่าแมงดาถ้วย ขนาดตัวประมาณ 20 เซนติเมตร หางเป็นรูปสามเหลี่ยม มีพื้นผิวด้านบน มีสีน้ำตาลอมเขียว มีสันและหนามเรียงกันเป็นแถว คล้ายฟันเลื่อย อยู่ตามพื้นทะเล ชอบวางไข่ริมชายฝั่งที่เป็นดินทราย

โดยทางกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า หากกินไข่แมงดาทะเลแล้วชาตามลิ้น รอบ ๆ ปาก ปลายนิ้วมือ ปลายนิ้วเท้า เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน แขน ขาอ่อนแรง ให้รีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจทำให้หายใจไม่สะดวกและเสียชีวิตได้

พร้อมทั้งแนะแนวทางป้องกัน ดังนี้

 

  • งดการกินไข่หรือแมงดาในช่วงกุมภาพันธ์ - มิถุนายน

  • หากไม่ทราบวิธีการนำแมงดาทะเลมาปรุงเป็นอาหาร ห้ามกินอย่างเด็ดขาด

  • เลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ควรระวังการซื้อผ่านช่องทางเพจหรือเฟซบุ๊ก

เข้าชม 20 แชร์ 0
เกาะติดประเด็นสำคัญกดติดตาม "ข่าวสเตชั่น"

สังคมอื่นๆ