วันที่ 29 มิถุนายน 2565 เพจกรมการแพทย์ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการป้องกันสำหรับผู้ที่เป็นโรคหอบหืด โดยต้องหมั่นสังเกตอาการและดูแลตัวเองในช่วงที่อากาศกำลังเข้าช่วงฤดูฝน เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการได้
นายแพทย์นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์เผยว่า โรคหอบหืดไม่ใช่โรคติดต่อ แต่สามารถถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรมได้ ซึ่งสาเหตุเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ซึ่งทำให้มีความไวต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากผิดปกติ ทำให้เกิดอาการของโรค ได้แก่ สารก่อภูมิแพ้ในและนอกครัวเรือน เช่น มลพิษทางอากาศ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ร้อนจัด เย็นจัด ฝนตก อากาศแห้งหรือชื้น เชื้อโรค ไรฝุ่น แมลงสาบ เกสร หญ้า วัชพืช ฝุ่นควันต่าง ๆ น้ำหอม น้ำยา หรือสารเคมีสัตว์เลี้ยง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ของผู้ป่วยโรคหอบหืด ทำให้เกิดอาการไอ หายใจไม่สะดวก มีเสียงหวีด เหนื่อยหอบ ไอเรื้อรัง แน่นหน้าอก โดยเฉพาะเวลากลางคืนและช่วงเช้ามืด
ทางด้านในแพทย์เอนก กนกศิลป์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอบรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคหอบหืดสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศ ทุกวัย และไม่สามารถทำการรักษาให้หายขาดได้ ทำได้เพียงแค่การควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงหรือกำเริบ โดยต้องได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและเคร่งครัด โดยแนะวิธี 7 วิธีป้องกัน ดังต่อไปนี้
1. หมั่นทำความสะอาดบ้าน ห้องนอน ห้องทำงาน เฟอร์นิเจอร์ พัดลม เครื่องปรับอากาศ
2. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงสาบ
3. พยายามเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท ให้แสงแดดส่องถึง
4. งดสูบบุหรี่และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกาย
6. พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงภาวะเครียด
7. ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ
ทั้งนี้สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ กรมการแพทย์ หรือโทร 02 - 590 - 6000