วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 นายชัยวุฒิ นาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่า ด้วยความร่วมมือการบูรณาการการดำเนินงานการพัฒนาวิชาการและวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้านสาธารณสุข ระหว่างกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมอนามัยโดยมีผู้ลงนาม ได้แก่
-
ดร. ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา
-
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย
-
ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย
-
ผู้แทนองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันประจำประเทศไทยร่วมเป็นพยาน
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. ดีอีเอส กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการทำ MOU ครั้งนี้ คือ ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ รวมทั้งประเทศไทยด้วยในส่วนของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็มีกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักในเรื่องของสภาพอากาศ โดยข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยานั้น มีหลากหลายสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายแขนง
โดยภาพรวมของงานจะเห็นได้ว่า ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยานั้นมีบทบาทสำคัญในการประเมินความเปราะบาง การสร้างความรับรู้ และการแจ้งเตือนภัยด้านสาธารณสุขให้แก่ประชาชนได้ ซึ่งนอกจากด้านสาธารณสุขแล้ว การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกยังส่งผลต่อภาคการเกษตร การจัดการน้ำ ภาคอุตสาหกรรม การคมนาคม และอื่น ๆ ซึ่งก็จะมีการดำเนินการประสานงานร่วมกันต่อไปในลักษณะของการดำเนินการเชิงรุก เพื่อเร่งสร้างความร่วมมือ โครงการงานวิจัยต่าง ๆ ร่วมกัน
โดยทางด้านดร. สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้กล่าวสนับสนุน การร่วมลงนาม MOU ครั้งนี้สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนได้อย่างยิ่งยวด
ทางด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญ ก็มีการพูดถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ทั้งทางกรมอุตุนิยมวิทยาและกรมอนามัยได้ร่วมลงนาม MOU ในครั้งนี้ โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสอดคล้องตามเป้าหมายแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน