เป็นก้าวสำคัญของสปป.ลาว ในการทำพิธีเปิดรถไฟความเร็วสูงระหว่างจีน-ลาว ในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ซึ่งตรงกับวันชาติลาวปีที่ 46 เป็นเส้นทางต่อเมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน สิ้นสุดที่นครเวียงจันทร์ เป็นระยะทาง 922.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางรวม 8 ชั่วโมง และจะเดินรถอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ธ.ค. ที่กำลังจะถึงนี้ แต่จะให้บริการเฉพาะส่งสินค้าเท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ยังคงมีความรุนแรงอยู่
ในทางด้านของประเทศไทย ในตอนนี้อยู่ในระยะเริ่มต้นของโครงการรถไฟความเร็วสูงระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา และระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย ก่อนจะดำเนินการเชื่อมต่อเส้นทางข้ามแดนในช่วงของหนองคาย และสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำโขง รองรับการขนส่งและเพิ่มโอกาสส่งออกสินค้าไทยไปจีนด้วยต้นทุนที่ถูกลง รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย
รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า จีนแผ่นดินใหญ่จะได้รับประโยชน์จากการมีเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญ และลดความเสี่ยงหากเกิดปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวจีนมองว่ามีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะกันระหว่างจีนกับไต้หวัน จากการยั่วยุของสหรัฐฯ นอกจากนี้เส้นทางดังกล่าวยังนำไปสู่ตลาดอาเซียนที่มีประชากรราว 600 ล้านคน และการเข้าถึงทรัพยากรคน ทรัพยากรทางธรรมชาติ สามารถกระจายกำลังการผลิตต่าง ๆ เข้าสู่ภูมิภาคดังกล่าวได้ง่ายยิ่งขึ้น